เมนู

พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 164. อันโตวุฏฐาทิปฏิกเขปกถา
เรื่องอุ่นภัตตาหาร
สมัยนั้น ภิกษุทั้งหลายสนทนาว่า “พระผู้มีพระภาคทรงห้ามภัตตาหารที่หุง
ต้มเอง” จึงยำเกรงโภชนาหารที่อุ่นใหม่
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้อุ่นภัตตาหารได้”

เรื่องให้เก็บอาหารภายในและหุงต้มเองเมื่อคราวจำเป็น
สมัยนั้น กรุงราชคฤห์เกิดข้าวยากหมากแพง คนทั้งหลายนำเกลือบ้าง น้ำมัน
บ้าง ข้าวสารบ้าง ของฉันบ้างมาที่อาราม ภิกษุทั้งหลายให้เก็บของเหล่านั้นไว้ภาย
นอก สัตว์ต่าง ๆ1 คาบไปกินเสียบ้าง พวกโจรลักเอาไปบ้าง
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต ให้เก็บไว้ภายในได้”
พวกกัปปิยการกเก็บอาหารไว้ภายในแล้วหุงต้มภายนอก พวกคนกินเดนพากัน
ห้อมล้อม ภิกษุทั้งหลายฉันไม่สะดวก
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มภายในได้”
ในคราวข้าวยากหมากแพง พวกกัปปิยการก2นำเอาสิ่งของไปเป็นจำนวนมากกว่า
ถวายภิกษุทั้งหลายเพียงเล็กน้อย
ภิกษุทั้งหลายจึงนำเรื่องนี้ไปกราบทูลพระผู้มีพระภาคให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาครับสั่งว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้หุงต้มเอง ภิกษุ
ทั้งหลาย เราอนุญาตอาหารที่เก็บไว้ภายใน ที่หุงต้มภายใน ที่หุงต้มเอง”

เชิงอรรถ :
1 สัตว์ต่าง ๆ แปลมาจากบาลีว่า “อุกฺกปิณฺฑกาปิ” ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “vermin” แปลว่า สัตว์ที่
ทำลายพืชพันธุ์ เช่น เสือปลา หนู นก ไส้เดือน (วิ.อ. 3/281/178)
2 กัปปิยการก หมายถึงผู้ทำหน้าที่จัดของที่สมควรแก่ภิกษุบริโภค, ผู้ปฏิบัติภิกษุ, ศิษย์พระ

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :72 }


พระวินัยปิฎก มหาวรรค [6. เภสัชชขันธกะ] 165. อุคคหิตปฏิคคหณา
165. อุคคหิตปฏิคคหณา
ว่าด้วยการรับประเคนของที่จับต้องแล้ว

เรื่องรับประเคนผลไม้ที่จับต้องแล้ว
[275] สมัยนั้น ภิกษุหลายรูปอยู่จำตลอดพรรษาในแคว้นกาสีแล้ว เดินทาง
ไปกรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทาง ไม่ได้โภชนาหารธรรมดาหรือ
ที่ประณีตตามต้องการเลย แม้ว่าของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ไม่มีกัปปิยการก
พากันลำบาก จึงเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ณ พระเวฬุวัน เขตกรุงราชคฤห์ สถานที่
ให้เหยื่อกระแต ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่สมควร
การที่พระพุทธเจ้าทรงปราศรัยกับพระอาคันตุกะทั้งหลาย นั่นเป็นพุทธประเพณี
ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอ
ทั้งหลายยังสบายดีหรือ ยังพอเป็นอยู่ได้หรือ เดินทางมาไม่ลำบากหรือ และพวก
เธอมาจากที่ไหน”
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า “ยังสบายดีพระพุทธเจ้าข้า ยังพอเป็นอยู่ได้
พระพุทธเจ้าข้า ขอพระราชทานพระวโรกาส พวกข้าพระองค์จำพรรษาในแคว้น
กาสี เดินทางมากรุงราชคฤห์เพื่อเฝ้าพระผู้มีพระภาค ระหว่างทางไม่ได้โภชนาหาร
ธรรมดาหรือที่ประณีตตามต้องการ แม้ของเคี้ยวคือผลไม้จะมีมาก แต่ก็หา
กัปปิยการกไม่ได้ ดังนั้นจึงเดินทางมาลำบาก พระพุทธเจ้าข้า”
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคแสดงธรรมีกถาเพราะเรื่องนี้เป็นต้นเหตุ รับสั่งกับ
ภิกษุทั้งหลายว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเห็นของเคี้ยวคือผลไม้ที่ใด ถึงไม่มี
กัปปิยการก เราอนุญาตให้หยิบนำไปเอง พบกัปปิยการกแล้ววางไว้บนพื้นดินให้
เขาประเคนแล้วฉันได้ ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้รับประเคนสิ่งของที่จับต้องแล้ว”

 


{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 5 หน้า :73 }